เตยหนู ๒

Carex cryptostachys Brongn.

ไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้าใต้ดินสั้น มีกาบใบเก่าเหลือเป็นเส้น ลำต้นเหนือดินเป็นรูปสามเหลี่ยม มีสันเป็นมุมแหลม ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓ แถว ออกเป็นกระจุกที่โคนต้น ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดเชิงประกอบ สีน้ำตาล ออกตามซอกใบ ช่อแขนงย่อยแบบช่อเชิงลด มี ๖-๑๐ ช่อ มีก้านสั้นหรือไร้ก้าน กระเปาะใบประดับย่อยมีสันนูนเป็นสามมุม โคนกระเปาะคอดเป็นก้านสั้น ปลายกระเปาะคอดเรียวและเป็นจะงอย ๒ แฉก ดอกไร้กลีบเลี้ยงและกลีบดอก ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียวรูปทรงรี เมล็ดรูปคล้ายผล

เตยหนูชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้าใต้ดินสั้น ขึ้นเป็นกอหลวม มีกาบใบเก่าเหลือเป็นเส้น ลำต้นเหนือดินเป็นรูปสามเหลี่ยม มีสันเป็นมุมแหลม กว้าง ๐.๓-๑ มม. สูง ๑-๕ ซม. ลำต้นเรียบและสั้นกว่าแผ่นใบ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓ แถว ออกเป็นกระจุกที่โคนต้น รูปแถบค่อนข้างแคบ กว้าง ๐.๖-๑.๘ ซม. ยาว ๑๐-๕๐ ซม. ปลายเรียวแหลมยาว โคนสอบเรียวเล็กน้อยจนถึงกาบ ขอบมีขนสาก แผ่นใบแบนหรือพับตามยาวเป็นสันคู่ เส้นใบเรียงขนานกันตามยาว มีเส้นจากโคนใบเด่นชัด ๑ เส้น และเป็นร่องทางด้านบน กาบใบเป็นปลอกหุ้มลำต้น ยาว ๓-๖ ซม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดเชิงประกอบ สีน้ำตาล ยาว ๖-๒๗ ซม. ออกตามซอกใบ ช่อแขนงย่อยแบบช่อเชิงลด มี ๖-๑๐ ช่อ รูปทรงกระบอก ยาว ๑-๓ ซม. มีก้านดอกสั้นหรือไร้ก้าน แต่ละช่อแขนงย่อยมีวงใบประดับรองรับ ใบประดับรูปคล้ายใบขนาดสั้น ยาว ๐.๗-๒ ซม. หรือลดรูปเป็นกาบสั้น แต่ละช่อแขนงย่อยมีช่อดอกย่อย ๖-๓๐ ช่อ อยู่บนแกนกลางย่อยแบบช่อเชิงลด ปลายสุดของช่อแขนงย่อยเป็นช่อดอกย่อยเพศผู้ โคนช่อแขนงเป็นช่อดอกย่อยเพศเมีย แต่ละช่อดอกย่อยมี ๑ ดอกย่อย ไร้กลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีใบประดับย่อยที่เรียกว่ากาบช่อดอกย่อย ๑ กาบรองรับ กาบช่อดอกย่อยของช่อดอกย่อยเพศผู้และช่อดอกย่อยเพศเมียรูปคล้ายกัน สีเหลืองแกมสีเขียวถึงสีน้ำตาลอ่อน รูปไข่ ยาว ๒.๒-๒.๘ มม. ปลายแหลม บางครั้งปลายมีติ่งหนามสั้น ๆ ขอบบางเป็นเยื่อ มีเส้นกาบชัดเจนและมีจำนวนมาก ดอกเพศผู้ลดรูปเหลือเพียงเกสรเพศผู้ ๓ เกสร ดอกเพศเมียมีใบประดับย่อยเป็นกระเปาะ สีเหลืองแกมสีเขียวถึงสีน้ำตาลอ่อน รูปไข่กลับถึงรูปกระสวยแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๓.๕-๕.๕ มม. ตัวกระเปาะมีสันนูนเป็นสามมุม โคนกระเปาะคอดเป็นก้านสั้น ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายกระเปาะคอดเรียวเป็นจะงอย ยาว ๐.๕-๐.๗ มม. ปลายจะงอยแยกเป็น ๒ แฉก ผิวมีเส้นตามยาวเป็นสันจำนวนมาก และมีขนละเอียดประปราย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ แฉก

 ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปทรงรี มีสันนูนเป็นสามมุม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒-๓ มม. เมล็ดรูปคล้ายผล

 เตยหนูชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามพื้นที่ทุ่งหญ้าเปิดโล่ง ที่ชื้นแฉะ และตามพื้นป่า ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงออสเตรเลีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตยหนู ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Carex cryptostachys Brongn.
ชื่อสกุล
Carex
คำระบุชนิด
cryptostachys
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Brongniart, Adolphe Théodore (de)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1801-1876)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์